วิธีการดูแลรักษาปั๊มลม ฉบับมืออาชีพ
สวัสดีค่ะทุกคนวันนี้ KSRTOOLS มีความรู้ดีๆเกี่ยวกับการดูแลรักษาปั๊มลมมาฝากกันค่ะ เราใช้งานเค้าแล้ว ก็ต้องดูแลเค้าให้ดีด้วยนะคะ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่างๆ ทั้งยังช่วยยืดอายุการใช้งาน เป็นการเซฟเงินในกระเป๋าของเราค่ะ ซึ่งมีทั้งหมด 13 สิ่งที่ต้องใส่ใจ มีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ
1.ระบบไฟฟ้า - เป็นสิ่งที่เราควรตรวจสอบเป็นสิ่งแรกเลย เพราะปั๊มลมเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งเหมือนกันค่ะ เราควรตรวจสอบว่า สายไฟมีการขาด ชำรุด หรือไม่ จุดต่อต่างๆมีการขันสกรูแน่นหรือไม่ โดยแนะนำให้ทำการสับเบรกเกอร์ลงก่อนทำการตรวจสอบ เพื่อป้องกันการเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับปั๊มลมจากกระแสไฟฟ้าได้ค่ะ
2.มอเตอร์ – ตรวจดูกระแสของมอเตอร์ว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ โดยใช้คลิปแอมป์คล้องที่สายใดสายหนึ่งของมอเตอร์ ในช่วงเวลาที่ปั๊มลมกำล้งทำงาน
3.น้ำมันเครื่องปั๊มลม – ควรให้ระดับน้ำมันเครื่องอยู่ในระดับกึ่งกลางของตาแมว ถ้าน้ำมันต่ำกว่าระดับกึ่งกลางของตาแมว ควรทำการถ่ายน้ำมันเครื่องออก และทำการเติมใหม่ให้ได้ระดับ ไม่แนะนำให้เติมน้ำมันเพิ่มเข้าไปโดยไม่ถ่ายน้ำมันเครื่องเก่าออก เพราะว่าในน้ำมันที่ผ่านการใช้งานจะมีความชื้นสะสม รวมทั้งคราบเขม่าต่างๆสะสมอยู่ ทำให้ประสิทธิภาพการหล่อลื่นของน้ำมันเครื่องทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ และจะทำให้เกิดตระกันที่ก้นแท๊งน้ำมันด้วย
ใส่น้ำมันเครื่องกึ่งกลางตาแมวหรือเกินได้เล็กน้อย เพราะเมื่อเวลาปั๊มลมทำงานน้ำมันจะพุ่งออกมาทางรูหายใจ จะทำให้เกิดความสกปรกที่เสื้อแท็งก์
4.ไส้กรองอากาศ - เป็นส่วนที่สำคัญมาก ควรทำการเปิดหม้อกรองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แล้วใช้ลมในถังต่อปืนเป่าทำความสะอาดไส้กรอง เพื่อทำความสะอาด แต่ถ้าพบว่าไม่สามารถเป่าได้ เช่น มีคราบน้ำมันเกาะ หรือความชื้นสะสมที่กระดาษกรอง ให้ทำการเปลี่ยนไส้กรองทันที เพราะจะทำอากาศถูกดูดน้อยลง ส่งผลให้การทำงานของปั๊มลมในแต่ละรอบนานขึ้น รวมทั้งยังทำให้เปลืองพลังงานไฟฟ้า กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าไส้กรองอากาศไม่อยู่ในสภาพที่ดีจะทำให้ปั๊มลมทำงานได้ช้าลงและยังทำให้ค่าไฟสูงขึ้นอีกด้วย
5.สายพาน – ควรปรับตั้งให้เหมาะสม ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้ ใช้นิ้วกดที่สายพานและหย่อนได้ประมาณ 1-1.5 ซม. หากสายพานตึงเกินไปจะทำให้กระแสของมอเตอร์สูงขึ้น หรืออาจทำให้สายพานขาดขณะทำงาน หรือถ้าหย่อนเกินไปสายพานก็อาจจะสะบัดหลุดได้
หากสายพานมีลักษณะเป็นขุยหรือแตก ขาด ชำรุด ให้ทำการเปลี่ยนทันที โดยเลือกใช้สายพานเบอร์เดียวกับที่ทางโรงงานติดตั้งมาเท่านั้น
6.วาล์วไอดี-ไอเสีย - การตรวจสอบวาล์วไอดี สามารถทำได้โดยการใช้ฝ่ามือสัมผัสไปที่จุดต่อหม้อกรอง โดยปกติแล้วจะรู้สึกถึงแรงดูด แต่หากวาล์วไอดีไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะไม่มีการดูดอากาศ เพราะวาล์วไอดีมีหน้าที่เปิดให้อากาศเข้าเท่านั้น
การตรวจสอบวาล์วไอเสีย ตรวจสอบโดยการใช้ฝ่ามือสัมผัสไปที่จุดต่อหม้อกรองจะพบว่ามีแรงดูด ให้ทำการใช้มือแนบไปที่จุดต่อหม้อกรองทุกสูบ แรงดูดจะต้องใกล้เคียงกัน ถ้าสูบใดสูบหนึ่งแรงดูดต่ำกว่าหรือไม่ดูดมือเลย แปลว่าการทำงานชองวาล์วไอเสียมีความผิดปกติ
7.เพรชเชอร์ สวิตช์ (Pressure Switch) - เราสามารถตรวจสอบโดยการปล่อยลมจากถังทิ้งเพื่อให้ปั๊มลมทำงาน และสังเกตช่วงการตัดและการทำงานต่อของปั๊มลมว่า เป็นไปตามการใช้งานเดิมหรือไม่ เช่น ตั้งแรงดันไว้ที่ 8-10 bar หากแรงดันลมต่ำกว่า 8 บาร์ ปั๊มลมจะเริ่มทำงาน และเมื่อแรงดันลมถึง 10 บาร์ ปั๊มลมจะตัดการทำงาน
ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการตรวจสอบรีลีสของปั๊มลมที่ต่อมาจาก เช็ควาล์ว (Check valve) ว่าเมื่อปั๊มตัดการทำงานแล้วปกติจะมีลมระบายออกจากรีรีส เพื่อระบายลมในหัวปั๊มลมออกเพื่อให้ปั๊มลมสตาร์ทได้ง่ายขึ้น แต่หลังจากนั้นยังคงมีลมรั่วตลอดเวลาหรือไม่ ถ้ามีลมรั่วควรตรวจสอบ รีลีสว่าเข็มค้างหรือเสีย ถ้าเสียควรเปลี่ยนรีลีส
8.เช็ควาล์ว (Check valve) หากมีลมย้อนจากถังขึ้นไปที่หัวปั๊ม ปั๊มลมสตาร์ทไม่ออก มีกระแสสูง และลมจากถังเริ่มหายไป แม้ว่าตอนที่ไม่ได้ใช้งานมีการปิดบอลวาล์วแล้วก็ตาม หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ขึ้นแปลว่าเช็ควาล์วของเรามีปัญหา ให้ทำการเปลี่ยนไส้เช็ควาล์ว หรือทำการเปลี่ยนเช็ควาล์วทั้งตัว โดยจะขึ้นกับสภาพของเช็ควาล์วของเราค่ะ ว่าควรแก้ปัญหาด้วยวิธีใด
9.จุดต่อของแป๊บระหว่างสูบ-แป๊บลงถัง จุดเชื่อม/ข้อต่อ ต่างๆ เราสามารถตรวจสอบจุดรั่วโดยการฉีดน้ำผสมสบู่ไปที่จุดเหล่านี้ในขณะที่มีลมในถัง หรือเวลาปั๊มลมกำลังทำงาน หากพบรอยรั่วต่างๆให้แก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดลมรั่ว เช่นทำการเปลี่ยนหรืออัดให้แน่น
10.เพรชเชอร์ เกจ (Pressure guage) หากหน้าปัดมีการแตกร้าวหรือเข็มค้าง ให้ทำการเปลี่ยน โดยปล่อยลมให้หมดถังก่อนการเปลี่ยนเพรชเชอร์ เกจ (Pressure gauge)
11.เซฟตี้ วาล์ว (Safety valve) เราสามารถตรวจสอบจุดรั่วโดยการใช้น้ำผสมสบู่ฉีดให้ทั่วเซฟตี้ วาล์ว (Safety valve) โดยต้องมีแรงดันอยู่ในถังที่เป็นแรงดันสูงสุดที่ตั้งมาจากโรงงาน เพื่อการตรวจสอบที่แม่นยำค่ะ
12.ถังพักลม - ควรเปิดวาล์วเดรนน้ำทิ้งทุกๆวันถ้าสามารถทำได้ หรืออย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะระบบอัดอากาศจะดูดอากาศจากภายนอกที่อาจมีความชื้นเข้าถังพักลม และผ่านกระบวนการอัดอากาศทำให้มีอุณหภูมิที่สูง และจะทำให้เกิดไอน้ำสะสมอยู่ในถัง ถ้าไม่ทำการถ่ายน้ำออก นอกจากจะทำให้ถังพักลมผุแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายได้
13.จุดต่อลม ควรตรวจเช็คตั้งแต่ บอลวาล์วไปจนถึงจุดใช้งาน ว่ามีรอยรั่วหรือไม่ ถ้ารั่วให้ทำการแก้ไข เพราะนี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปั๊มลมทำงานบ่อย หรือทำงานเองทั้งๆที่ไม่มีการใช้งาน
โดย 13 ข้อนี้เป็นวิธีการดูแลรักษาปั๊มลมเบื้องต้นที่เราสามารถตรวจสอบเองได้ที่บ้านหรือที่โรงงาน และเรามีเป็น VDO ให้ดูเพื่อความเข้าใจมากขึ้นของทุกคนด้วยนะคะ แต่หากใครมีคำถามหรืออยากได้ข้อมูลเรื่องใดเพิ่มเติมสามารถแอดไลน์มาคุยได้ที่ @ksrtool ได้ทางเกรียงศิริพัฒนาจะรวบรวมคำถามต่างๆ นำมาให้ความรู้ทุกคนผ่านบทความดีๆ จากเราค่ะ และใครกำลังมองหาปั๊มลมตัวใหม่สามารถเข้าไปดูสินค้าจากเราได้ที่ปั๊มลมทั้งหมด